วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

ร้อยเรื่องราว ผ่านเรื่องเล่าวรรณกรรม


        "ครอบครัวกลางถนน" เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นสะท้อนภาพชีวิตคนเมืองในสังคมปันจุบันซึ่งกำลังเผชิญปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจและการเมือง มาถ่ายทอดเป็นเรื่องสั้นจำนวนทั้งหมด 13 เรื่อง

- ขาซ้ายของแม่
เด็กหนุ่มจากบ้านนอกเข้ามาทำงานอยู่เมืองหลวง หลายปีดีดักไม่ได้ติดต่อหรือแวะกลับบ้านจนกระทั่งพาว่าที่ลูกสะใภ้ไปให้คุณแม่ดูตัว พบขาข้างซ้ายที่คอยหาเลี้ยง-ส่งเสริมเริ่มแสดงอาการเจ็บป่วยอย่างเห็นได้ชัดจึงตั้งใจเก็บเงินไว้เป็นค่ารักษา แต่สุดท้ายความตั้งใจก็ยังคงไม่ส่งผลเพราะมีเหตุให้ต้องเลื่อนความตั้งใจนี้ลงไป** อย่าเหลียวกลับมาดูดายต่อเมื่อท่านจากไป - มันไม่มีความหมายให้เรียกกลับมา **
- ถ้าผมเป็นพ่อ
เรื่องราวของลูกชายวัยรุ่นที่ถูกคุณพ่อเข้มงวดกวดขันว่าเป็นสิ่งไม่ดีและยังไม่ควรแก่เวลาแต่คุณย่าก็เล่าว่าตอนพ่ออายุเท่าผม - ท่านก็หนีไม่พ้นเรื่องราวเหล่านี้หยิกแกมหยอกได้น่ารักดี โดนตรงที่เรื่องเดียวกันแต่ต่างวาระที่ท่านไม่อยากให้ทำเพราะว่าท่านเคยทำมาก่อนหรือจำตอนที่มีความรู้สึกนั้นไม่ได้
- ด่าน
เรื่องราวของช่างทาสีสองคน คนหนึ่งโสด ส่วนอีกคนมีคู่แล้วคนที่มีคู่ตั้งใจจะหาเงินไว้ดาวน์รถให้หวานใจ แต่ก็โดนหนุ่มโสดยุยงให้ปลดปล่อยความกำหนัดดีที่นายจ้างคอยเตือนสติ พออนิจจาเมื่อเหล้าเข้าปากสติก็ขาดความตั้งใจก็เลยหาย
- คืนเหน็บหนาว
หนุ่มหล่อผู้เป็นที่หมายปอง กับครอบครัวที่หลายคนเมื่อดูจากภายนอกก็บอกว่าอิจฉาแต่สิ่งที่เห็นมันต่างจากสิ่งที่เป็น เมื่อหน้าตาภายนอกไม่ได้การันตีว่าภายในจะดีเช่นที่เห็นสุดท้ายสิ่งที่ผู้คนอิจฉา แม้ว่าจะได้มาแต่ก็ไม่เหลือไว้ให้ครอบครอง
- ดอกเลือด
นักเขียนบทผู้รับหน้าที่พ่อ ที่ต้องการบ่มเพาะให้ลูกเติบโตมาอย่างที่ต้องการเหมือนกับความรู้สึกของพ่อแม่สมัยใหม่ที่อยากให้ลูกได้ดีแต่ก็ยังห่วงนั่นห่วงนี่เลี้ยงลูกตามตำรา เอาใจใส่ให้ความดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ซึมซับเข้าไปอย่างที่ใจคิด เพราะการเลี้ยงดูมันต้องไปควบคู่กับการรับรู้ สักแต่ป้อนแต่ไม่เคยถาม เอาแต่ยัดเยียดไม่เคยรับรู้ว่าเขาต้องการหรือไม่สุดท้ายการเอาใจใส่ก็เหมือนกับศูนย์เปล่า
- ผู้เข้าใจ
เมื่อเพื่อนเก่าสองคนต่างบังเอิญโคจรมาพบกันคนหนึ่งตกงานไม่ต้องการพูดเรื่องราวของตัวเอง แต่อีกคนก็ยังซักไซร้ไล่เลียงเอาแต่ถามคนหนึ่งดูเหมือนจะเข้าใจไปซะทุกคน มองทะลุปรุโปร่งไปซะทุกอย่างแต่อีกคนกลับไม่ได้เข้าใจใคร นอกจากเข้าใจตัวเองแต่สุดท้ายคนที่ไม่เคยเข้าใจใครกับย้อนถามว่าแล้วนายเข้าใจตัวเองหรือเปล่า ??
- ครอบครัวกลางถนน
ท่ามกลางเมืองหลวงที่ต้องแข่งขัน ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบมีเวลาอยู่บนถนนมากกว่าอยู่ในบ้าน ใช้เวลากับพวงมาลัย ซีดีและไฟแดงมากกว่าคนในครอบครัวสะท้อนมุมมองชีวิตที่รีบเร่ง นัดบ่าย 3 ออกจากบ้านตั้งแต่ 10 โมงจึงทำให้รถกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพราะมันเหมือนบ้านหลังที่สองที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนนั้นตั้งแต่พูดคุยกัน กินข้าว เข้าห้องน้ำยันกระทั่งมีสัมพันธ์ลึกซึ้ง
- อิสรภาพ
ชีวิตลูกจ้างที่มีชะตากรรมอยู่บนคำสั่งและตัดสินของนายจ้างเมื่อผลประโยชน์ขาดหายแม้เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับอย่างมหาศาลแต่ลูกจ้างก็คือลูกจ้าง อิสรภาพจะมาก็ต่อเมื่อนายจ้างมองข้ามไป
- มีดของนาย
ธุรกิจกับผลประโยชน์จัดว่าเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกดังนั้นนักธุรกิจนอกจากจะวางแผนธุรกิจยังต้องวางหมากถือมีดประจำกายหาช่องทางกอบโกย ผลักภาระถึงจะสมกับคำว่านักธุรกิจและผู้รับผลประโยชน์ตัวจริง
- มโนกรรม
ความคิดเป็นสิ่งน่ากลัว ทำให้เราทุกข์ใจและสบายใจได้เพียงเพราะความคิดคนเราจะไว้ใจใครได้ก็ต้องดูที่ความคิด คิดเหมือนกันทำคล้ายกันจัดเป็นพวกเดียวกันแต่ถ้าความคิดแปลกแตกต่างท่ามกลางวงล้อมความคิดอื่น ความทุกข์เท่านั้นที่หาเจอ
- เทพธิดา
คนเรามักจะมองหาตามล่าสิ่งนำโชคดีเหมือนตามหาเทพธิดาให้คอยคุ้มครองคอยมองหาจากทุกหนแห่งแต่การมีโชคดีไม่ได้อยู่ไหนเลยนอกจากการกระทำและตัวเราเอง
- เสียหมา
รู้หน้าไม่รู้ใจ คนเราตัดสินได้ด้วยการกระทำและสิ่งที่เห็นแต่สิ่งที่เห็นจะมีความจริงหรือมีความเป็นไปได้หรือไม่ จะมีใครหน้าไหนสักกี่คนที่จะค้นหาที่มาและความเป็นไป ไม่ใช่เพียงแค่ตัดสินได้ด้วยตาตัวเอง
- เด็กหัวขี้เลื่อยกับกระดาษห่อหนังสือพิมพ์
บทนี้ขออภัยอ่านเท่าไหร่ก็ไม่สามารถรู้ได้ถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อนอกจากเด็กชายผู้ไม่มีความเฉลียวฉลาด ขาดความสามารถทำงานในโรงพิมพ์กับเจ้าของและชายผู้หนึ่งที่วิจารณ์ผู้อื่นได้อย่างไม่ไว้หน้า

  เป็นหนังสือรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน (ซีไรต์) ของประเทศ ประจำปี 2536 ด้วยลีลาการเขียน การถ่ายอดทื่คมคาย ภาษาสละสลวยและเล่นกับตัวอักษรได้อย่างถึงอารมณ์

  แต่ละบทละครแฝงข้อคิดและปรัชญาผ่านบทบาทของครอบครัวในสังคมเมืองกรุงที่อยู่ในระดับและฐานะปานกลาง  มีบางบทที่ชื่นชอบและบางตอนที่ยอมรับว่าอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ พยายามอ่านซ้ำอ่านทวนก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี   ชอบตอนขาซ้ายของแม่และครอบครัวกลางถนน ถ่ายทอดได้ถึงอารมณ์และสร้างภาพจากตัวอักษรได้แจ่มชัด  ประหนึ่งตัวละครเคลื่อนไหวมีลมหายใจใช้ชีวิตอยู่ต่อหน้าเรา  แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือรางวัลซีไรต์และเป็นเรื่องราวสะท้อนสังคมที่จิกกัดได้แรง(ละมุน)จึงทำให้หนังสือเล่มนี้  จะบอกซะเต็มปากว่าอ่านง่ายก็ไม่ง่าย แต่จะบอกว่าอ่านยากก็ไม่ใช่ เอาเป็นว่าใครอยากดื่มด่ำกับความกลมกล่อมของชึวิตตัวละครผ่านตัวอักษรเล่มนี้ก็คงพอช่วยคุณฆ่าเวลาได้อย่างไม่ผิดหวังแน่นอน..



วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557


วรรณกรรมดีๆแบบ "อุดมคติเพื่อสังคม"  

เกิดเป็นหมอ , ปอเนาะที่รัก , โรงเรียนในภู , ครูป่าจากป่าใต้ 


...เรื่อง เกิดเป็นหมอ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นชัดเจนที่สุดถึงลักษณะของการสอน ทั้งนี้กลวิธีการนำเสนอเป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็น ในเรื่องนี้เป็นลักษณะของจดหมายจากพี่ชายที่ออกไปทำงานเป็นหมอในต่างจังหวัด มาถึงน้องสาวที่กำลังเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ ในจดหมายเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ได้พบ และได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ในฐานะที่ตนเองเป็นแพทย์ปริญญา จบการศึกษาได้ด้วยเงินภาษีของประชาชน ก็ควรจะทุ่มเทตัวเอง เสียสละเพื่อช่วยเหลือสังคม ตอบแทนในสิ่งที่ตนเองได้จากสังคม เราอาจเห็นความตั้งใจของผู้เขียนเองที่ต้องการจะส่งผ่านความคิดอันเป็นอุดมคติ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่จะให้เด็กได้เรียนรู้และซึมซับเข้าไป เหล่านี้มาสู่ผู้อ่านโดยผ่านการพูดทางจดหมายเหล่านี้เหมือนกับที่ "พี่หมอ" ในเรื่องสอนเรื่องราวต่างๆ แก่ "น้องเล็ก"
...เรื่อง ปอเนาะที่รัก แม้จะไม่ได้เป็นการเขียนสั่งสอนโดยตรงเหมือนเรื่องเกิดเป็นหมอ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กล่าวถึงเพียงชีวิตของครูที่เสียสละไปทำงานในท้องที่ทุรกันดารเสียทีเดียว ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้เป็นความเกี่ยวพันกับ ศาสนาและสังคม โรงเรียนปอเนาะ เป็นโรงเรียนมุสลิมที่ต้องการรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อมีครูใหม่ มีความคิดก้าวหน้าจึงถูกมองว่าเป็นพวกที่ต้องการมาล้างสมองเด็กในโรงเรียน ความเข้าใจผิดเหล่านี้ได้ถูกแก้โดยการแก้ไขอย่างละมุนละม่อมของครู ในตอนกลางถึงตอนท้ายของเรื่องได้พัฒนาเรื่องราวถึงการที่คนต่างศาสนาก็ยังมีความเป็นไทยเหมือนกัน และสามารถทำอะไรเพื่อสังคม สิ่งนี้แสดงออกมาโดยตัวละครที่แตกต่างกันสามตัว ฮาซัน ซึ่งเป็นคนมีเหตุผล และเคยไม่เห็นด้วยกับความเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ข้อห้ามอย่างเกินสมควรและไม่มีเหตุผลของโรงเรียนปอเนาะ ได้ลาออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยพ่อทำนาเกลือ มะยากี เด็กอีกคนหนึ่งที่ถูกเลี้ยงมาในโลกแคบๆ ของศาสนาและเอาแต่ยึดถือในกฎระเบียบข้อห้ามของศาสนาโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด ได้รับทุนไปเรียนต่อด้านศาสนาซาอุดิอาระเบีย ดีอกดีใจที่ตนเองได้ทุน และหมายมั่นปั้นมือจะได้ใบปริญญากลับมาอวด แต่ รอกีเยาะห์ ซึ่งเป็นผู้หญิงได้ทุนไปเรียนต่อครูในกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้หลายอย่างจากการเคยได้ไปทัศนศึกษาภาคอิสานว่าคนเราสามารถมีเกียรติได้แม้จะยากจน แม้จะทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ในตอนแรกตัดสินใจที่จะอยู่ช่วยฮาซันทำนาเกลือโดยไม่ไปเรียนต่อ แต่ฮาซันได้ห้ามไว้โดยให้เหตุผลว่ารอกีเยาะห์ควรจะไปเรียนต่อโดยบอกว่า "รัฐบาลต้องการให้เธอนำสิ่งดีงามที่พบเห็นมาปรับปรุงปอเนาะ ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลออกให้เธอเป็นเงินมาจากภาษีของประชาชน จากความเหน็ดเหนื่อยของเราเองด้วย" (p.139) และรอกีเยาะห์ตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาปอเนาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาติบ้านเมืองของตนเอง
...เรื่อง โรงเรียนในภู  เป็นเรื่องที่ยิ่งดูจะเป็นวรรณกรรมเด็กน้อยไปกว่าสองเรื่องแรกเมื่อกล่าวถึงเนื้อหาบางตอน ตัวเอกในเรื่องนี้เป็นครูหนุ่มไฟแรงที่มาทำงานต่างจังหวัดครั้งแรก ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ริเริ่มอะไรต่างๆ สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เช่น เมื่อ สมเกียรติ ตัวเอกของเรื่องเป็นตัวตั้งตัวตีจะทำอะไรใหม่ๆ กลับถูกมองจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะครูใหญ่มองด้วยความหมั่นไส้ ว่าพยายามจะให้เปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรไม่เข้าเรื่อง ในขณะเดียวกันก็เกรงว่าจะมามีบทบาทสำคัญกว่าตน โดยที่ตัวครูใหญ่เองนั้นก็เคยเป็นอย่างสมเกียรติมาก่อน แต่ความกระตือรือร้นหายไปกับกาลเวลาและความไม่สมหวัง บางครั้งถึงกับมีคนกลั่นแกล้งเยาะเย้ยเมื่อสมเกียรติทำไม่สำเร็จ ครูในเรื่องนี้ไม่ใช่ครูในอุดมคติที่เป็นในหนังสือเด็ก ที่เข้ามาแล้วยิ้มแย้ม ทำทุกอย่างด้วยความเข้าใจเด็ก แต่เป็นครูที่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบปุถุชน ดื่มเหล้าสังสรรค์บ้าง ขี้ขลาดบ้าง มุทะลุบ้าง สมเกียรติเองไปรักกับสาวชาวบ้านจนถูกกลั่นแกล้งจากคนในหมู่บ้าน ในตอนจบมีโรงเรียนเปิดใหม่ในที่กันดารอีกแห่งหนึ่งแล้วต้องการคนไปเป็นครู สมเกียรติซึ่งแต่งงานกับสาวในหมู่บ้าน มีครอบครัว มีภาระแล้วสองจิตสองใจว่าควรจะรับอาสาหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาคงไม่ต้องคิดมาก ในที่สุดเขาได้อาสาไป ครูใหญ่ได้มาจับมืออวยพรเขาแล้วกล่าวว่า "ผมเสียดายนะ เสียดายที่แก่ไป ผมอิจฉาความหนุ่มของคุณเหลือเกินสมเกียรติ" (p.151) ความเป็นหนุ่มดังกล่าวไม่ใช่ความอายุน้อย แต่เป็นความกระตือรือร้นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่สมเกียรติมี และไม่ได้สูญเสียมันไปเมื่อเผชิญกับอุปสรรคหรือแม้แต่มีภาระหน้าที่ครอบครัวที่ต้องดูแล และภรรยาของเขาเองก็ภาคภูมิใจในตัวเขาด้วย
...เรื่อง ครูป่าจากป่าใต้ ไม่ใช่วรรณกรรมเด็กโดยตรง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นซึ่งอาจจะบอกได้ด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องสั้นที่ชวนคิด ที่อาจจะเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก อย่างไรก็ดีไม่ว่าร้านหนังสือไหนๆก็จัดเรื่องนี้อยู่ในวรรณกรรมเยาวชน เรื่องสั้นที่รวบรวมมาของมานพ แก้วสนิท เป็นเรื่องสั้นที่เสนอข้อคิดหลายอย่าง และไม่ได้จบด้วยความหวังอันเจิดจรัสเสมอไป เรื่อง ก่อนถึงโรงเรียน ได้เสนอปัญหาช่องว่างระหว่างครูจากเมืองที่สอนตามหลักสูตรกับเด็กในต่างจังหวัดที่มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง เด็กหญิงลี ตัวเอกของเรื่องไม่เห็นว่าควรจะไปโรงเรียนเนื่องจากสอนแต่สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตอยู่ของตน ที่มีแม่กำลังป่วยกับพ่อที่เอาแต่ดื่มเหล้า ครูเองก็เอาแต่สอนถึงเรื่องที่เด็กมองไม่เห็นว่าเป็นอย่างไรโดยไม่สนใจที่จะเรียนรู้ในตัวเด็ก เมื่อลีตัดสินใจโดดเรียนเพื่อเก็บผักบุ้งไปขายและได้เงินมา เธอกลับภูมิใจเสียมากกว่า เรื่องนี้ได้ทิ้งคำถามไว้ให้ผู้อ่านได้คิด นั่นคือผู้เขียนได้ตั้งคำถามต่อความพยายามของคนในเมืองที่ตั้งใจจะนำมาความรู้มาสู่ชนบท โดยเห็นว่าความรู้ที่นำมาคือ "ความเจริญ" แต่กลับถูกเห็นว่าไม่จำเป็น และเด็กไม่สามารถเข้าใจในเรื่องที่คนเมืองเห็นว่าเป็น "ความเจริญและความมีอารยธรรม" อันนี้ได้ ทั้งนี้เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่ดำรงอยู่ของพวกเขาเลย และเพราะคนในเมืองไม่ได้พยายามทำความเข้าใจกับชีวิตเหล่านั้น เป็นการพยายามเข้าหาในทางเดียวโดยที่ไม่ยอมรับรู้และเข้าใจกับชีวิตที่มีความเป็นอยู่ต่างกันออกไป เรื่องส่วนใหญ่เป็นการเสนอปัญหาที่ชวนให้คิดเช่นนี้ มีบางเรื่องที่จบลงด้วยการตัดสินใจ ความหวัง เช่น จะไปสู่หนใด ในเรื่อง ทม ครูใหม่ไฟแรงกลับต้องผิดหวังเมื่อพยายามทำในสิ่งที่ดีแต่กลับพบว่าถูกครูอื่นๆ เกลียดชังอิจฉา ในขณะที่ครูพวกนั้นไม่สนใจที่จะรับผิดชอบในความเป็นครูของตน โดดสอนบ้าง ไปทำอย่างอื่นที่ไม่จำเป็นในเวลาราชการบ้างโดยไม่สนใจว่าเด็กอุตส่าห์มาโรงเรียนเพื่อจะเรียนหนังสือ และเสียเวลาที่จะช่วยพ่อแม่ทำงานไป ทมคิดหลายครั้งว่าควรจะจากที่นี่ไป "เพื่อว่าวิญญาณความเป็นครูของเขาจะไม่แตกดับไปเสียก่อน" แต่เขากลับตัดสินใจได้ในที่สุดในตอนกลางคืนเมื่อมีพายุฝนมาชะล้างพื้นดิน เขาตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ และ "พรุ่งนี้..เขาจะไม่เป็นเพียงครูของนักเรียนเท่านั้น แต่เขาจะต้องเป็นครูของครูที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย" นั่นคือ เขาจะต้องต่อสู้เพื่อชะล้างความสกปรกต่างๆให้หมดไปเหมือนกับที่น้ำฝนได้ชะล้างผืนดิน
ทั้งสี่เรื่องแม้จะเป็นวรรณกรรมที่ใครหลายคนอาจจะมองว่ามันแสนเก่าแต่เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมานั้นเป็นเรื่องราวดีๆที่น่าอ่านและยังช่วยให้เราได้มองเห็นมุมดีๆที่มีอยู่ในสังคม ^^


                                                                                                  ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : วลัยลักษณ์  ตรงจิตติปัญญา       
                                                                                                                                                     นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ
                                                                                                                                                          คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
                                               http://www.arts.chula.ac.th/~complit/studentclub/academic/walailak.htm

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วรรณกรรมเด็กตัดสินกันที่ไหน ? :


อะไรคือวรรณกรรมเด็ก ?

......ความเป็นวรรณกรรมเด็กหรือวรรณกรรมเยาวชนมีความหลากหลายในประวัติวรรณกรรมวิจารณ์ เราอาจมองแนวทางการแบ่งดังกล่าวได้เป็นสองทาง แนวทางแรกเป็นไปในแบบความคิดเห็นของ John Rowe Townsend ซึ่งเป็นนักวิจารณ์สมัยใหม่ :
"คือ การมองว่า การพยายามสร้างความหมายเฉพาะของวรรณกรรมเด็ก แยกออกจากวรรณกรรมทั่วไปนั้น เป็นเพียงสิ่งที่สร้างขึ้น และเป็นการแบ่งแยกที่ไม่จำเป็น นี่เป็นความคิดเห็นที่เน้นแนวปฏิบัติ การนำไปใช้ ทั้งนี้เนื่องจากวรรณกรรมไม่ว่าวรรณกรรมเด็กหรือไม่ล้วนแล้วแต่สามารถอ่านโดยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถให้ประโยชน์ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่"......
.....ในอีกด้านหนึ่ง การแบ่งแยกวรรณกรรมเด็กออกจากวรรณกรรมทั่วไปในฐานะที่เป็น Literary Genre อันหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่น่าจะทำ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และในฐานะที่เป็นประเภทของวรรณกรรมอย่างหนึ่ง 
.....การให้ลักษณะของวรรณกรรมเด็กมีทั้งในด้านของรูปแบบหรือกลวิธีการเขียน และเนื้อหาของเรื่อง  เรื่องของกลวิธีการเขียนกับเนื้อหาของเรื่องโดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งที่ยากที่จะแยกออกจากกัน ทั้งนี้เนื่องจากกลวิธีการเขียนมีส่วนในการแสดงออกซึ่งเนื้อหาหรือแก่นเรื่องด้วย โดยเฉพาะวรรณกรรมเด็ก กลวิธีในการเขียนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้เด็กเข้าถึงเนื้อหา หรือทำให้เด็กสนใจได้มากเพียงไหน ....
คำถามที่เกิดขึ้นคือ>> 
           ทำไม?..วรรณกรรมเด็กจึงควรจะ หรือมักจะมีลักษณะของเนื้อหาเช่นนี้ ? ....ในเมื่อโดยปกติทั่วไปเรามักจะบอกว่า วรรณกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องมี "สูตรสำเร็จ" เป็นข้อๆ และลักษณะที่เป็นสูตรสำเร็จดังกล่าวจะปรากฏในวรรณกรรมหลีกหนีเสียมากกว่า แต่วรรณกรรมเด็กทีเราสามารถศึกษากันได้มากมาย กลับมีสูตรที่รวบรวมเป็นลักษณะได้ และได้รับการยอมรับว่าเป็นวรรณกรรมเด็กที่ดี เป็นหลักเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากวรรณกรรมทั่วไป คำถามต่อมาคือ>>  
            ทำไม?วรรณกรรมเด็กจึงแตกต่างจากวรรณกรรมทั่วไปเช่นนี้ ?.... คำตอบน่าจะอยู่ที่เรื่องของ ความรู้สึกรับผิดชอบของผู้สร้างงาน นั่นก็คือ "ผู้ใหญ่" ในความคิดที่ว่า ควรจะสอนสั่งเด็กให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ดี เพราะ "เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า" และสังคมจะดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับในสังคม การสอนเด็กในสิ่งที่ดีในวันนี้คือการเตรียมตัวให้เด็กคนนั้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีชีวิตอย่างมีความสุขได้ในสังคม ในขณะเดียวกันก็มอบความดีที่ตนมีให้แก่สังคมเพื่อให้เกิดความสงบสุข
ดังนั้น>>
          เราอาจบอกได้ว่า ในที่นี้ วรรณกรรมเด็ก...กลายเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่ใช้ในการสื่อสารกับเด็ก เพื่อสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่เหมาะสมกับสังคม หรือสามารถมีชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข เราอาจจะบอกได้อีกว่า ลักษณะดังกล่าวนี้มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียดในแต่ละสังคม และน่าจะมีความเข้มข้นมากกว่าในสังคมตะวันออก ทั้งนี้เพราะพื้นฐานวัฒนธรรมในสังคมตะวันออกมีเรื่องของการเคารพผู้อาวุโสมากกว่า วิธีการที่คนตะวันออกใช้สั่งสอนเด็กก็แตกต่างไปจากคนตะวันตก ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ในข้อนี้ได้ เนื่องจากไม่ได้นำวรรณกรรมเด็กในสังคมตะวันตกมาเปรียบเทียบ และไม่ได้กล่าวถึงวรรณกรรมเด็กในสังคมตะวันออกอื่นๆ นอกไปจากในสังคมไทยเอง อย่างไรก็ดีเราอาจมองเห็นลักษณะดังกล่าวได้บ้างจากการพิจารณาวรรณกรรมเยาวชนของไทย 4 เรื่อง ที่เป็นวรรณกรรมที่บ่งบอกถึงอุดมคติทางด้านสังคมให้แก่เด็กที่วรรณกรรมหนึ่ง
นั้นก็คือ

 "เกิดเป็นหมอ , ปอเนาะที่รัก , โรงเรียนในภู , ครูป่าจากป่าใต้"  

เรื่องราวเนื้อหาในแต่ล่ะเรื่องจะเป็นยังไงและจะสะท้อนถึงสังคมแบบไหนในวรรณกรรมเหล่านี้ติดตามสาระดีๆผ่านวรรณกรรมได้ในโพสหน้าน่ะค่ะ ^^

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ติดต่อเรา


นางสาวนิรมล  ทรงเลิศ  (ใยไหม)
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ 
 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช