วรรณกรรมดีๆแบบ "อุดมคติเพื่อสังคม" :
เกิดเป็นหมอ , ปอเนาะที่รัก , โรงเรียนในภู , ครูป่าจากป่าใต้
...เรื่อง เกิดเป็นหมอ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นชัดเจนที่สุดถึงลักษณะของการสอน ทั้งนี้กลวิธีการนำเสนอเป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็น ในเรื่องนี้เป็นลักษณะของจดหมายจากพี่ชายที่ออกไปทำงานเป็นหมอในต่างจังหวัด มาถึงน้องสาวที่กำลังเรียนแพทย์ในกรุงเทพฯ ในจดหมายเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ได้พบ และได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ในฐานะที่ตนเองเป็นแพทย์ปริญญา จบการศึกษาได้ด้วยเงินภาษีของประชาชน ก็ควรจะทุ่มเทตัวเอง เสียสละเพื่อช่วยเหลือสังคม ตอบแทนในสิ่งที่ตนเองได้จากสังคม เราอาจเห็นความตั้งใจของผู้เขียนเองที่ต้องการจะส่งผ่านความคิดอันเป็นอุดมคติ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่จะให้เด็กได้เรียนรู้และซึมซับเข้าไป เหล่านี้มาสู่ผู้อ่านโดยผ่านการพูดทางจดหมายเหล่านี้เหมือนกับที่ "พี่หมอ" ในเรื่องสอนเรื่องราวต่างๆ แก่ "น้องเล็ก"
...เรื่อง ปอเนาะที่รัก แม้จะไม่ได้เป็นการเขียนสั่งสอนโดยตรงเหมือนเรื่องเกิดเป็นหมอ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กล่าวถึงเพียงชีวิตของครูที่เสียสละไปทำงานในท้องที่ทุรกันดารเสียทีเดียว ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้เป็นความเกี่ยวพันกับ ศาสนาและสังคม โรงเรียนปอเนาะ เป็นโรงเรียนมุสลิมที่ต้องการรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อมีครูใหม่ มีความคิดก้าวหน้าจึงถูกมองว่าเป็นพวกที่ต้องการมาล้างสมองเด็กในโรงเรียน ความเข้าใจผิดเหล่านี้ได้ถูกแก้โดยการแก้ไขอย่างละมุนละม่อมของครู ในตอนกลางถึงตอนท้ายของเรื่องได้พัฒนาเรื่องราวถึงการที่คนต่างศาสนาก็ยังมีความเป็นไทยเหมือนกัน และสามารถทำอะไรเพื่อสังคม สิ่งนี้แสดงออกมาโดยตัวละครที่แตกต่างกันสามตัว ฮาซัน ซึ่งเป็นคนมีเหตุผล และเคยไม่เห็นด้วยกับความเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ข้อห้ามอย่างเกินสมควรและไม่มีเหตุผลของโรงเรียนปอเนาะ ได้ลาออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยพ่อทำนาเกลือ มะยากี เด็กอีกคนหนึ่งที่ถูกเลี้ยงมาในโลกแคบๆ ของศาสนาและเอาแต่ยึดถือในกฎระเบียบข้อห้ามของศาสนาโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด ได้รับทุนไปเรียนต่อด้านศาสนาซาอุดิอาระเบีย ดีอกดีใจที่ตนเองได้ทุน และหมายมั่นปั้นมือจะได้ใบปริญญากลับมาอวด แต่ รอกีเยาะห์ ซึ่งเป็นผู้หญิงได้ทุนไปเรียนต่อครูในกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้หลายอย่างจากการเคยได้ไปทัศนศึกษาภาคอิสานว่าคนเราสามารถมีเกียรติได้แม้จะยากจน แม้จะทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ในตอนแรกตัดสินใจที่จะอยู่ช่วยฮาซันทำนาเกลือโดยไม่ไปเรียนต่อ แต่ฮาซันได้ห้ามไว้โดยให้เหตุผลว่ารอกีเยาะห์ควรจะไปเรียนต่อโดยบอกว่า "รัฐบาลต้องการให้เธอนำสิ่งดีงามที่พบเห็นมาปรับปรุงปอเนาะ ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลออกให้เธอเป็นเงินมาจากภาษีของประชาชน จากความเหน็ดเหนื่อยของเราเองด้วย" (p.139) และรอกีเยาะห์ตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาปอเนาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาติบ้านเมืองของตนเอง
...เรื่อง โรงเรียนในภู เป็นเรื่องที่ยิ่งดูจะเป็นวรรณกรรมเด็กน้อยไปกว่าสองเรื่องแรกเมื่อกล่าวถึงเนื้อหาบางตอน ตัวเอกในเรื่องนี้เป็นครูหนุ่มไฟแรงที่มาทำงานต่างจังหวัดครั้งแรก ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ริเริ่มอะไรต่างๆ สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง เช่น เมื่อ สมเกียรติ ตัวเอกของเรื่องเป็นตัวตั้งตัวตีจะทำอะไรใหม่ๆ กลับถูกมองจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะครูใหญ่มองด้วยความหมั่นไส้ ว่าพยายามจะให้เปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรไม่เข้าเรื่อง ในขณะเดียวกันก็เกรงว่าจะมามีบทบาทสำคัญกว่าตน โดยที่ตัวครูใหญ่เองนั้นก็เคยเป็นอย่างสมเกียรติมาก่อน แต่ความกระตือรือร้นหายไปกับกาลเวลาและความไม่สมหวัง บางครั้งถึงกับมีคนกลั่นแกล้งเยาะเย้ยเมื่อสมเกียรติทำไม่สำเร็จ ครูในเรื่องนี้ไม่ใช่ครูในอุดมคติที่เป็นในหนังสือเด็ก ที่เข้ามาแล้วยิ้มแย้ม ทำทุกอย่างด้วยความเข้าใจเด็ก แต่เป็นครูที่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบปุถุชน ดื่มเหล้าสังสรรค์บ้าง ขี้ขลาดบ้าง มุทะลุบ้าง สมเกียรติเองไปรักกับสาวชาวบ้านจนถูกกลั่นแกล้งจากคนในหมู่บ้าน ในตอนจบมีโรงเรียนเปิดใหม่ในที่กันดารอีกแห่งหนึ่งแล้วต้องการคนไปเป็นครู สมเกียรติซึ่งแต่งงานกับสาวในหมู่บ้าน มีครอบครัว มีภาระแล้วสองจิตสองใจว่าควรจะรับอาสาหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาคงไม่ต้องคิดมาก ในที่สุดเขาได้อาสาไป ครูใหญ่ได้มาจับมืออวยพรเขาแล้วกล่าวว่า "ผมเสียดายนะ เสียดายที่แก่ไป ผมอิจฉาความหนุ่มของคุณเหลือเกินสมเกียรติ" (p.151) ความเป็นหนุ่มดังกล่าวไม่ใช่ความอายุน้อย แต่เป็นความกระตือรือร้นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่สมเกียรติมี และไม่ได้สูญเสียมันไปเมื่อเผชิญกับอุปสรรคหรือแม้แต่มีภาระหน้าที่ครอบครัวที่ต้องดูแล และภรรยาของเขาเองก็ภาคภูมิใจในตัวเขาด้วย
...เรื่อง ครูป่าจากป่าใต้ ไม่ใช่วรรณกรรมเด็กโดยตรง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นซึ่งอาจจะบอกได้ด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องสั้นที่ชวนคิด ที่อาจจะเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก อย่างไรก็ดีไม่ว่าร้านหนังสือไหนๆก็จัดเรื่องนี้อยู่ในวรรณกรรมเยาวชน เรื่องสั้นที่รวบรวมมาของมานพ แก้วสนิท เป็นเรื่องสั้นที่เสนอข้อคิดหลายอย่าง และไม่ได้จบด้วยความหวังอันเจิดจรัสเสมอไป เรื่อง ก่อนถึงโรงเรียน ได้เสนอปัญหาช่องว่างระหว่างครูจากเมืองที่สอนตามหลักสูตรกับเด็กในต่างจังหวัดที่มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง เด็กหญิงลี ตัวเอกของเรื่องไม่เห็นว่าควรจะไปโรงเรียนเนื่องจากสอนแต่สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตอยู่ของตน ที่มีแม่กำลังป่วยกับพ่อที่เอาแต่ดื่มเหล้า ครูเองก็เอาแต่สอนถึงเรื่องที่เด็กมองไม่เห็นว่าเป็นอย่างไรโดยไม่สนใจที่จะเรียนรู้ในตัวเด็ก เมื่อลีตัดสินใจโดดเรียนเพื่อเก็บผักบุ้งไปขายและได้เงินมา เธอกลับภูมิใจเสียมากกว่า เรื่องนี้ได้ทิ้งคำถามไว้ให้ผู้อ่านได้คิด นั่นคือผู้เขียนได้ตั้งคำถามต่อความพยายามของคนในเมืองที่ตั้งใจจะนำมาความรู้มาสู่ชนบท โดยเห็นว่าความรู้ที่นำมาคือ "ความเจริญ" แต่กลับถูกเห็นว่าไม่จำเป็น และเด็กไม่สามารถเข้าใจในเรื่องที่คนเมืองเห็นว่าเป็น "ความเจริญและความมีอารยธรรม" อันนี้ได้ ทั้งนี้เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่ดำรงอยู่ของพวกเขาเลย และเพราะคนในเมืองไม่ได้พยายามทำความเข้าใจกับชีวิตเหล่านั้น เป็นการพยายามเข้าหาในทางเดียวโดยที่ไม่ยอมรับรู้และเข้าใจกับชีวิตที่มีความเป็นอยู่ต่างกันออกไป เรื่องส่วนใหญ่เป็นการเสนอปัญหาที่ชวนให้คิดเช่นนี้ มีบางเรื่องที่จบลงด้วยการตัดสินใจ ความหวัง เช่น จะไปสู่หนใด ในเรื่อง ทม ครูใหม่ไฟแรงกลับต้องผิดหวังเมื่อพยายามทำในสิ่งที่ดีแต่กลับพบว่าถูกครูอื่นๆ เกลียดชังอิจฉา ในขณะที่ครูพวกนั้นไม่สนใจที่จะรับผิดชอบในความเป็นครูของตน โดดสอนบ้าง ไปทำอย่างอื่นที่ไม่จำเป็นในเวลาราชการบ้างโดยไม่สนใจว่าเด็กอุตส่าห์มาโรงเรียนเพื่อจะเรียนหนังสือ และเสียเวลาที่จะช่วยพ่อแม่ทำงานไป ทมคิดหลายครั้งว่าควรจะจากที่นี่ไป "เพื่อว่าวิญญาณความเป็นครูของเขาจะไม่แตกดับไปเสียก่อน" แต่เขากลับตัดสินใจได้ในที่สุดในตอนกลางคืนเมื่อมีพายุฝนมาชะล้างพื้นดิน เขาตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ และ "พรุ่งนี้..เขาจะไม่เป็นเพียงครูของนักเรียนเท่านั้น แต่เขาจะต้องเป็นครูของครูที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย" นั่นคือ เขาจะต้องต่อสู้เพื่อชะล้างความสกปรกต่างๆให้หมดไปเหมือนกับที่น้ำฝนได้ชะล้างผืนดิน
ทั้งสี่เรื่องแม้จะเป็นวรรณกรรมที่ใครหลายคนอาจจะมองว่ามันแสนเก่าแต่เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมานั้นเป็นเรื่องราวดีๆที่น่าอ่านและยังช่วยให้เราได้มองเห็นมุมดีๆที่มีอยู่ในสังคม ^^
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : วลัยลักษณ์ ตรงจิตติปัญญา
นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น